หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การปลูกมะระ

มะระ
มะระ (Bitter Gourd) ชื่อวิทยาศาสตร์ : Momordica charantia
ข้อมูลทั่วไป
มะระเป็นพืชที่อยู่ในตระกูลแตง (Cucurbitaceae) เป็นพืชเมืองร้อน มักเจริญเติบโตได้ดีในสภาพภูมิอากาศเขตร้อนชื้น และดินแดนแทบทุกชนิดแต่เจริญเติบโตได้ดีในดินร่อนปนทรายที่มีการระบายน้ำดี pH ระหว่าง 5.5-7.2 มะระเป็นพืชฤดูเดียว มีการเจริญแบบเลื้อย มีลำต้นเป็นเถา มีมือเกาะช่วยพยุงลำต้น เมื่อปลูกจึงต้องทำค้างมีดอกตัวผู้และตัวเมียอยู่ในต้นเดียวกัน เป็นพืชที่ต้องการความเอาใจใส่มาก เพราะมีแมลงหลายชนิดคอยรบกวน หากขาดความเอาใจใส่เรื่องการป้องกันกำจัดแมลง การปลูกมะระจะไม่ได้ผล ไม่คุ้มกับการลงทุน
มะระสามารถแบ่งได้ 2 ประเภทดังนี้
1. มะระจีน ผลยาวใหญ่ เนื้อหนา ส่วนใหญ่มีน้ำตาทางยาวสลับน้ำตาละเอียด
2. มะระขี้นก ผลเล็ก น้ำตาแหลม เนื้อบาง

การเพาะกล้า
เตรียมวัสดุเพาะกล้า แล้วนำเมล็ดที่รากงอกแล้วไปเพาะในหลังจากต้นกล้างอก รดน้ำให้ชุ่ม
ควรทำหลังคาพลาสติกป้องกันฝน ถ้าต้นกล้าไม่สมบูรณ์ให้รดด้วยปุ๋ย 21-0-0 อัตรา 50 กรัม/น้ำ 20 ลิตรแล้วรดน้ำล้างใบ ควรรดน้ำให้ชุ่มอยู่เสมอ
การเตรียมแปลง
ถ้าดินมีสภาพเป็นกรดควรใส่ปูนขาวอัตรา 100-200 กิโลกรัมต่อไร่ ก่อนการไถพรวน การไถครั้งแรกควรเป็นการไถพลิกดิน แล้วตากทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อเป็นการลดปริมารณวัชพืช ทำการหว่านปุ๋ยตรากระต่าย 15-15-15 อัตรา 50-80 กิโลกรัมต่อไร่ ใส่ปุ๋ยคอก 1 ตันต่อไร่ แล้วใช้จอบหมุนพรวนกลบ (ไม่ควรไถพรวนดินจนแตกย่อย เพราะจะทำให้ดินแน่นในภายหลัง รากพืชจะไม่สามารถหยั่งได้ลึกเพียงพอ) ยกแปลงเป็นแปลงคู่ระยะระหว่างแปลงกว้าง 2-3 เมตร ร่องน้ำ 0.5 เมตร ปลูกแปลงละ 1 แถวระยะระหว่างต้น 100 cm.(เหมือนบวบ) รองก้นหลุมด้วยปุ๋ย 15-15-15
การย้ายกล้า
เมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ 2 สัปดาห์ ควรย้ายปลูกในเวลาเย็น เมื่อปลูกเสร็จควรรดน้ำทันทีช่วงแรกควรรดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ
การห่อผล
เมื่อมะระออกดอกและติดผลขนาดโตยาวประมาณ 3 นิ้ว ควรใช้กระดาษทำเป็นถุง ขนาด 15 x 30 ซม. ปากถุงเปิดทั้งสองด้าน นำถุงที่ได้สวมผลมะระแล้วใช้ไม้กลัดๆปากถุงให้แขวนอยู่บนก้านของผล การห่อผลนี้จะช่วยไม่ถูกรบกรวนจากแมลงศัตรูพืชและยังทำให้ผลมีสีเขียวอ่อนน่ารับประทาน

การให้น้ำ
มะระเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก ต้องให้น้ำเช้า-เย็นทุกวัน ยกเว้นที่ฝนตก ต้นมะระยิ่งโตยิ่งต้องการน้ำมาก การให้น้ำต้องให้โดนยอดและโดยใบ โดยเฉพาะในช่วงติดผล ซึ่งอายุประมาณ 35-40 วัน มะระจะขาดน้ำไม่ได้เลย เพราะถ้าขาดน้ำลูกจะคดงอเหี่ยวไม่สมบูรณ์ มะระต้องการน้ำก็จริง แต่ไม่ควรให้น้ำขังแฉะในแปลง เพราะจะทำให้เน่าตายได้ ฉะนั้นในแปลงปลูกจึงควรมีทางระบายน้ำด้วย
การให้ปุ๋ย
การใส่ปุ๋ยแยกใส่ระยะตามความต้องการของมะระ คือ
· ปุ๋ยรองพื้น ปุ๋ยคอก 1 ตัน/ไร่ และปุ๋ยตรากระต่ายสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัม/ไร่
· อายุ 15-20 วัน หลังจากย้ายกล้าปลูก ใช้ปุ๋ยตรากระต่ายสูตร 15-15-15 อัตรา 30 กิโลกรัม/ไร่ โดยรอบโคน
· เริ่มติดลูกชุดแรก อายุประมาณ 40-45 วัน ใช้ปุ๋ยตรากระต่ายสูตร 15-15-15 อัตรา 20 กิโลกรัม/ไร่
· เก็บเกี่ยวผลผลิต 2-3 ครั้ง อายุประมาณ 65-70 วัน ใช้ปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 15-15-15
การเก็บเกี่ยว
อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 45-50 วันหลังหยอดเมล็ดและแล้วแต่สายพันธุ์
การป้องกันกำจัดโรคและแมลง
โรคราน้ำค้าง
เกิดจากเชื้อรา Pseudoperospoa cubensis ระบาดในช่วงอุณหภูมิต่ำและความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูง ในระยะแรกแผลเป็นสีน้ำตาล ช้ำน้ำระหว่างเส้นใบ แผลเป็นเหลี่ยม ในระยะการระบาด เมื่อพลิกใบจะเห็นสปอร์สีดำและเส้นใยสีขาวในบริเวณแผล เมื่อระบาดหนักใบจะแห้งกรอบบริเวณขอบใบ ทำให้พืชไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ ถ้าเป็นมากใบ เถาจะแห้งและตายในที่สุด ทำให้ผลผลิตลดลง
การป้องกันกำจัด
ควรฉีดพ่นเทนเอ็ม 45 อัตรา 20-30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตรป้องกันก่อนพบโรค เมื่อพบโรคให้ใช้ยาบาวีซานอัตรา 10-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตรสลับกับโคไซด์ 101 อัตรา 15-30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตรฉีดพ่นใต้ใบในช่วงเช้า เพราะสปอร์อยู่ใต้ใบ หากแผลเป็นสีน้ำตาลแห้งแสดงว่าเชื้อโรคตาย เมื่อพบการระบาดของโรคให้ตัดใบล่างที่เป็นโรคมากทิ้งแล้วฉีดพ่นด้วยเทนเอ็ม โนมิลดิวอัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 7 วัน
โรคราแป้ง
เกิดจากเชื้อรา Oidium ซึ่งสร้างสปอร์สีขาวคล้ายผงแป้งเคลือบอยู่บนใบและหลุดปลิวแพร่ระบาดไปในอากาศได้ง่าย เกิดเส้นใยสีขาวคล้ายผลแป้งโดยเฉพาะด้านบนใบและตามผล แผลมีลักษณะเป็นจุดกลมสีขาว ซึ่งจะขยายออกไปจนคลุมเต็มใบ ทำให้ใบแห้งกรอบเป็นสีน้ำตาล ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและทำให้ใบแห้งหมดทั้งเถา โรคนี้มักพบบนใบแก่ระบาดมากปลายฤดูฝนต่อกับต้นฤดูหนาว ใช้กำมะถันผงชนิดละลายน้ำในอัตรา 30-40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ควรใช้ในเวลาเช้าหรือเย็นที่แดดไม่ร้อนจัด
โรคไวรัส
เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งมีแมลงจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยไฟ, เพลี้ยอ่อน เป็นตัวนำเชื้อโรคให้แพร่ระบาดติดต่อกัน ลักษณะใบจะสีเขียวสลับเหลืองด่าง ยอดหงิกงอ ต้นแคระแกร็น ผลมีรูปร่างบิดเบี้ยว
การป้องกันกำจัด
1. ใช้พันธุ์ต้านทานไวรัส
2. กำจัดพาหะที่สำคัญซึ่งได้แก่ เพลี้ยไฟ แมลงหวี่ขาว โดยฉีดสารชอสแมค ฉีดพ่น
3. ถอนต้นที่แสดงอาการดังกล่าวเผาทำลายทิ้ง
โรคใบจุด
เกิดจากเชื้อรา Cercospora cutrulina ใบมีลักษณะเป็นจุดกลมสีน้ำตาล ลักษณะแผล
เป็นสะเก็ด ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 มม.ตรงกลางแผลมีสีขาว ควรป้องกันก่อนการระบาด
โรคแอนแทรคโนส
เกิดจากเชื้อรา Collectotrichum lagenarium ใบมีจุดสีน้ำตาลกระจายทั่วไป ใบแห้งกรอบที่ลำต้นมีแผลเป็นทางยาวเป็นจุดสีดำ โรคนี้สามารถถ่ายทอดไปเมล็ดพันธุ์ได้ ป้องกันโดยการฉีดพ่นเทนเอมทุก 7 วัน
เพลี้ยไฟ
แมลงขนาดเล็กลำตัวยาวประมาณ 2 มม. สีน้ำตาลอ่อนพบตามใต้ใบและยอดอ่อน การทำลายใช้ปากดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้เกิดรอยด่างสีน้ำตาล ยอดอ่อนแคระแกร็น ใบหงิกงอ รูปร่างผิดปกติมีสีซีด สลับเขียวเป็นทาง มักพบการระบาดในช่วงเปลี่ยนฤดู อากาศแห้งและฝนทิ้งช่วงใช้สารชอสแมคอัตรา 30 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นเมื่อพบ
แมลงหวี่ขาว
แมลงตัวเต็มวัยมีปีก ขนาดประมาณ 1 มม. ตัวอ่อนสีดำขนาดยาวประมาณ 1 มม. พบกลุ่มตามใต้ผิวใบ การทำลายตัวแก่และตัวอ่อน จะดูดน้ำเลี้ยงโดยเฉพาะใต้ผิวใบ ทำให้ใบม้วนลง แคระแกร็นและหงิก การตรวจแปลงให้เคาะใบจะทำให้แมลงหวี่ขาวบินออกมา กำจัดได้โดยฉีดพ่นสารชอสแมคอัตรา 20-30 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร
เคล็ดลับการปลูก
- ควรหมั่นจัดผลมะระไม่ให้ติดตาข่าย ทุก 7 วัน เพื่อไม่ให้ผลคดงอ
ความคุ้มค่าของการลงทุน
- มะระจีนให้ผลผลิต 7,500 กิโลกรัม/ไร่ ลงทุน 31,338 บาท/ไร่ ราคาขายผลผลิตกิโลกรัม
ละ 7-8 บาท
- มะระขี้นกให้ผลผลิต 5,000 กิโลกรัม/ไร่ ลงทุน 27,888 บาท/ไร่ ราคาขายผลผลิตกิโลกรัมละ 5-6 บาท
ต้นทุนการลงทุน คิดรวมค่าแรงงาน และวัสดุอุปกรณ์ที่สามารถใช้ได้ในฤดูต่อไปประมาณ 3 ครั้ง

1 ความคิดเห็น: