หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การปลูกพริก

พริก
ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ PEPPER , HOT PEPPER , CHILLI
ชื่อวิทยาศาสตร์ Capsicum
http://www.chiataigroup.com/

ข้อมูลทั่วไป
พริกเป็นพืชที่อยู่ในตระกูล (Family) Solanaceae อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพริก ประมาณ 20-35 องศาเซลเซียส สำหรับพริกยักษ์ (พริกหวาน) ประมาณ 21-25 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส จะทำให้ชะงักการเจริญเติบโตและติดเมล็ดน้อย อุณหภูมิ 30-35 องศาเซลเซียส เหมาะสำหรับการงอกของเมล็ด

พริกสามารถออกดอกได้เร็วในสภาพวันสั้น การปลูกในสภาพพื้นที่ที่ขาดน้ำหรือน้ำขัง อากาศร้อนและลมแรง จะทำให้ผลผลิตลดลง สภาพดินร่วนปนทรายระบายน้ำดีและมีอินทรีย์วัตถุสูง pH ระหว่าง 5.5-6.5 เหมาะสำหรับการผลิตเมล็ดพันธุ์ พื้นที่ราบสูงที่มีอุณหภูมิกลางวันและกลางคืนแตกต่างกันมาก จะทำให้ติดผลดีและเมล็ดพันธุ์มีคุณภาพสูง ควรมีระดับน้ำใต้ดินต่ำกว่า 1.5 เมตร เพราะระบบรากของพริกยาวไม่น้อยกว่า 0.5 เมตร


พื้นที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ควรห่างจากพริกอื่นอย่างน้อย 500-800 เมตร แต่ถ้ามีสภาพภูมิประเทศกั้น เช่น ทะเล ภูเขา ป่า ควรใช้ระยะห่างจากพันธุ์อื่นไม่น้อยกว่า 100-200 เมตร

การเพาะกล้าลงถาดเพาะกล้า
เตรียมวัสดุเพาะโดยใช้ Peat Most 3 ส่วน Vermiculite 1 ส่วน ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน ใส่ลงในถาดเพาะขนาด 50 หลุม ให้เต็มหลุมแต่ไม่ต้องกด รดน้ำให้ชุ่ม เจาะหลุมลึกประมาณ 1 มิลลิเมตร หยอดเมล็ดหลุมละ 1-2 เมล็ด แล้วกลบหลังจากเพาะเมล็ด 3-5 วัน ทำการซ่อมหลุดที่ไม่งอก โดยการย้ายต้นกล้าจากหลุมที่งอกมากกว่า 1 ต้นมาปลูกยังหลุมที่ไม่งอก ถ้าต้นกล้าเจริญเติบโต ไม่ค่อยดีควรรดปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร โดยใส่บัวรด และรดน้ำตาม ควรให้ปุ๋ยในช่วงเย็น ระยะก่อนปลูก 3-5 วัน ควรให้น้ำน้อยลง เพื่อเตรียมต้นกล้าให้ปรับตัวในสภาพแปลงปลูก ควรพ่นสารเคมี ป้องกันกำจัดศัตรูพืช 1 วันก่อนย้ายปลูก

การเตรียมพื้นที่ปลูก
ทำการไถพรวนและปรับแปลงให้มีความสม่ำเสมอ ใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 1 ตันต่อไร่ ถ้าพื้นที่ปลูกสภาพดินเป็นกรดควรใส่ปูนขาว อัตรา 100-200 กิโลกรัมต่อไร่เพื่อปรับสภาพดิน ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัม ต่อไร่ ยกแปลงกว้าง 1 เมตร ระยะห่างระหว่างแปลง 10.5 เมตร ควรยกแปลงให้สูงและปรับหลังแปลงให้สม่ำเสมอ เพื่อป้องกันน้ำขัง ขุดหลุมปลูก โดยใช้ระยะห่างระหว่างต้นและแถว 50 เซนติเมตร ปลูกแปลงละ 2 แถว รองก้นหลุมด้วย น็อกไดน์ 5 จี และปุ๋ยสูตร 15-15-15 คนให้คลุกเคล้ากับดินก้นหลุม เพื่อไม่ให้สัมผัสกับรากพริกโดยตรงเมื่อทำการย้ายปลูก

การย้ายกล้า
เมื่อต้นกล้าอายุได้ 25-30 วันควรทำการย้ายกล้าไปปลูกในแปลงที่เตรียมไว้ ควรย้ายกล้าในเวลาบ่าย-เย็น ในกรณีที่ทำการเพาะกล้าในแปลงเพาะ ควรรดน้ำกล้าให้ชุ่มก่อนและขณะย้ายควรให้มีดินติดต้นกล้าไปให้มากที่สุด เพื่อให้กล้ากระทบกระเทือนน้อยและสามารถตั้งตัวได้เร็ว หลังย้ายกล้าต้องรีบรดน้ำตามทันที เมื่อย้ายกล้าเสร็จแล้วควรใช้ฟางคลุมดิน เพื่อช่วยรักษาความชื้น และอาจช่วยพรางแสงให้ต้นกล้าสามารถตั้งตัวได้เร็วขึ้นด้วย

การให้น้ำ
ต้องคำนึงอยู่เสมอว่า อย่าให้น้ำจนเปียกหรือแฉะเกินไป จะทำให้พริกเหี่ยวตายได้ และอย่าปล่อยให้ดินแห้งมาก เพราะพริกจะชะงักการเจริญเติบโต ในระยะแรกของการเจริญเติบโตควรให้น้ำอย่างพอเพียงและสม่ำเสมอเพื่อให้ต้นแข็งแรง

การให้ปุ๋ย
หลังจากย้ายกล้า 7-10 วัน รดด้วยปุ๋ยสูตร 21-0-0 และ 15-15-15 อัตราส่วน 2 : 1 ในอัตรา 100 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ธาตุอาหารเสริมมาโมมิก อัตรา 10-15 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร และฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต อโทนิค อัตรา 3-5 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร
หลังย้ายกล้า 1 เดือนใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 โดยเจาะหลุมฝังระหว่างต้นประมาณ 1 ช้อนชา
หลังย้ายกล้า 50 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 โดยเจาะหลุมฝังระหว่างต้นประมาณ 1 ช้อนชา และหากมีการให้น้ำตามร่องก็สามารถใช้ปุ๋ยหว่านตามร่องน้ำใช้ปุ๋ยประมาณ 50-100 กิโลกรัมต่อไร่

การพรวนดิน
ในระยะที่พริกยังต้นเล็กอยู่ ควรพรวนดินบ่อยๆ เพื่อให้ดินมีการระบายน้ำและถ่ายเทอากาศได้ดี และยังเป็นการกำจัดวัชพืชไปด้วย เมื่อต้นพริกโตจนทรงพุ่มปิดผิวดินหมดแล้วก็ไม่จำเป็นต้องพรวนดินอีกต่อไป

การตัดแต่ง
หลังจากย้ายกล้าต้นพริกจะเจริญเติบโตจนมีใบประมาณ 7-8 ใบ ก็จะเริ่มเกิดดอกแรกในประมาณข้อที่ 7-11 แขนงจะเกิดขึ้นที่มุมซอกใบด้านบน ตั้งแต่ใบแรกจนถึงใบสุดท้ายใต้ดอกแรก โดยที่มุมที่เกิดดอกแรกจะมีการแตกกิ่งออกเป็นง่าม การตัดแต่งควรทำารตัดแต่งแขนงที่เกิดที่ซอกใบตั้งแต่ใบแรกจนถึงชอกใบใต้ดอกแรก และควรทำในตอนเช้าเพื่อให้บาดแผลแห้งภายใน 1 วัน

การเก็บเกี่ยว
โดยทั่วไปการเก็บเกี่ยวผลพริกสดสามารถทำการเก็บเกี่ยวได้เมื่อพริกมีอายุ 60 วันหลังย้ายกล้า แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับลักษณะประจำพันธุ์ด้วย การเก็บพริกสดจะสามารถตรวจสอบว่าผลพริกแก่เต็มที่ได้โดยการบีบผลดี ถ้าผลแข็งแสดงว่าแก่เต็มที่สามารถเก็บได้ พริกขี้หนูและพริกชี้ฟ้ามีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 70-95 วัน หลังย้ายกล้า พริกหวานมีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 60-80 วัน ในระยะแรกที่พริกเริ่มให้ผลจะมีผลไม่มากนักแต่จะเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อต้นเริ่มแก่ปริมาณผลก็จะลดลงอีก โดยทั่วไปพริกจะให้ผลผลิตได้นาน 6-7 เดือนแต่ถ้ามีการดูแลรักษาสภาพต้นให้สมบูรณ์แข็งแรงดี จะสามารถเก็บผลได้นานถึง 1 ปี

โรคและแมลงศัตรูพริก
1.โรคกล้าเน่าตาย
ลักษณะอาการ ต้นกล้าจะเหี่ยวแห้งตาย แต่เนื่องจากสาเหตุของโรค มีหลายชนิด
อาการของโรคจึงมีความแตกต่างกันบ้าง ถ้าสังเกตอย่างใกล้ชิด เช่น อาจมีแผลที่ใบเลี้ยง หรือบนส่วนของลำต้นหรือรากก่อนแล้วต้นจึงจะตาย เกิดจากเชื้อรา Pythium Phytophthora Fusarium และ Rhizoctonia เชื้อโรคที่ทำให้ต้นกล้าของพริกตาย ส่วนมากเป็นเชื้อโรคที่อาจติดมาจากภายนอกหรือภายในเมล็ดพันธุ์ เช่น เชื้อโรคแอนแทรคโนส หรือเป็นเชื้อโรคที่ชอบอาศัยอยู่ในดินอยู่แล้ว จะทำให้เมล็ดเน่าหรือต้นกล้าตายหรือต้นไม่สมบูรณ์

การป้องกันกำจัด
1. คลุกเมล็ดด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราหลังจากกล้าเมล็ดพันธุ์แล้ว เพื่อป้องกัน
เชื้อในดินเข้าทำลายเมล็ดในขณะที่มีการงอก
2.เมื่อต้นกล้างอกขึ้นมาเหนือพื้นดินแล้ว ควรรีบพ่นหรือรดด้วยสารเคมีป้องกันกำจัด
โรคพืช เช่น เทนเอ็ม ทันที และต้องพ่นหรือรดน้ำซ้ำทุก 5-7 วัน

2.โรคเหี่ยว
2.1โรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Pseudomonas solanacearum
ลักษณะอาการ ต้นพริกที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการเหี่ยว ทั่วต้นในวันที่มีอากาศ
ร้อนจัดและอาจฟื้นคืนดีใหม่ในเวลากลางคืน ต้นพริกจะมีอาการเช่นนี้อยู่ 2-3 วันแล้วจะเหี่ยวตายโดยไม่ฟื้น การเหี่ยวของต้นพริกที่เป็นโรคนี้จะไม่แสดงอาการใบเหลืองของใบที่อยู่ล่างๆ มาก่อน ถ้าถอนต้นที่เป็นโรคมาดูจะเห็นว่ารากเน่า และเมื่อเฉือนลำต้นตรงใกล้ระดับคอดินดูจะพบว่า เนื้อเยื่อที่เป็นท่อลำเลียงอาหารช้ำ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน
การป้องกันกำจัด
1. ถอนต้นพริกที่เป็นโรคไปเผาไฟ
2. ป้องกันไม่ให้ต้นพริกมีบาดแผลบริเวณโคนต้นและราก
3.ป้องกันและกำจัดไส้เดือนฝอยในที่ที่มีการตรวจพบ เพื่อป้องกันการเข้าทำลายและจำทำให้รากพริกเกิด
บาดแผล
4. ถ้ามีการระบาดมากควรปลูกพืชหมุนเวียนโดยใช้พืชในตระกูลอื่น
5. ให้ปูนขาวละลายน้ำรดบริเวณโคนต้น

2.2 โรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อรา
ลักษณะอาการ อาการของโรคนี้แตกต่างจากอาการของโรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียต้นที่เป็นโรคจะปรากฏอาการบนใบแก่ของพริกที่อยู่ตอนล่างๆ ก่อน คือ ใบจะมีสีเหลืองแล้วต่อมาใบที่อยู่ถัดมาป้องกันกำจัดโดยใช้ยาเชื้อพวก บาซิลัส ซับทิลิส และ เชื้อไตรโคเดอมาผสมน้ำรดโคนต้นและฉีดพ่น

1.โรคใบจุดที่เกิดจากเชื้อรา
1.1 เกิดจากเชื้อรา Cercospora อาการเริ่มแรกจะเป็นจุดช้ำน้ำขนาดเล็ก ซึ่งจะขยาย
วงกว้างขึ้นจนแผลมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-4 มิลลิเมตร เนื้อเยื่อตรงกลางแผลจะแห้งบางเป็นสีน้ำตาลหรือสีเทาอ่อนขอบแผลมีสีน้ำตาลแก่หรือน้ำตาลอมแดง ตรงกลางมีกระจุกของราสีเทาหรือสีดำอ่อนๆ ขึ้นเป็นกลุ่มซึ่งมองเห็นได้ยากด้วยตาเปล่า ต้องใช้แว่นขยายช่วยจึงจะมองเห็นชัด แผลดังกล่าวนี้อาจอาจขยายมารวมติดกันกลายเป็นแผลใหญ่ทำให้แผลมีรูปร่างไม่แน่นอน เนื้อเยื่อตรงกลางแผลจะแห้งและหลุดไปก่อนกำหนดทำให้ต้นไม่สมบูรณ์ ผลผลิตน้อยลง
1.2 เกิดจากเชื้อรา Alternaria เริ่มจากจะเป็นแผลวงกลมสีน้ำตาล แผลด้านหลังใบมีสีอ่อนกว่าด้านท้องใบ แผลขยายวงกว้างออกไปเป็นแผลขนาดใหญ่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของแผลประมาณครึ่งเซนติเมตร บางแผลจะมีขอบสีเหลือง ใบที่มีแผลใหญ่เพียงแผลเดียวก็อาจจะมีใบเหลืองและร่วงได้ เชื้อรานี้เวลาเจริญไปตามแผลจะเห็นเป็นวงสีน้ำตาลซ้อนกัน ถ้าอากาศชื้นบนวงสีน้ำตาลนี้จะมีสปอร์ของเชื้อราสร้างขึ้นปกคลุมบนแผลด้านท้องใบ มองดูเป็นผงสีน้ำตาลไหม้

การป้องกันกำจัด
ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น กรณีที่ต้นพริกยังไม่เป็นโรคควรพ่นด้วย เทนเอ็ม แต่ถ้าพริกเริ่มเป็นโรคควรพ่นด้วย บาวีซาน หรือใช้เทนเอ็ม + บาวีซานฉีดพ่น

4. โรคราแป้ง
เกิดจากเชื้อรา Oidiopsis
ลักษณะอาการ เชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคนี้จะจับเป็นผงหรือขุยสีขาวคล้ายผงแป้ง ผงสีขาวนี้เป็นเส้นใยและสปอร์ของเชื้อราที่ขึ้นเป็นกลุ่มกระจัดกระจายทั่วๆ ไป เนื้อเยื่อด้านบนใบที่อยู่ตรงข้ามกันจะมีสีเหลือง ฉะนั้นจึงสังเกตโรคนี้ได้ง่าย เพราะใบสีเหลืองไม่สม่ำเสมอกัน นานไปบนเนื้อเยื่อสีเหลืองนี้อาจมีจุดละเอียดสีน้ำตาลเกิดขึ้นเนื่องจากการตายของเนื้อเยื่อ ใบที่มีอาการดังกล่าวนี้ถ้าจับแต่เพียงเบาๆ ก็จะหลุดร่วงออกมาอย่างง่ายดาย โดยปกติใบทีเหลืองมากๆ เพราะมีเชื้อราเกาะทั่วไปจะร่วงหล่น

การป้องกันกำจัด สารเคมีป้องกันกำจัดหลายชนิดไม่มีประสิทธิภาพป้องกันกำจัดเชื้อรานี้ โดยตรง สารเคมีที่ใช้ได้ผล คือ กำมะถันผง ละลายน้ำพ่น หรือ ใช้ซุปเปอร์-ซิก การพ่นควรพ่นในเวลาเช้ามืดที่มีอากาศเย็นหรือมีน้ำค้าง หรือในเวลาเย็น ไม่ควรพ่นในเวลาที่มีแดดร้อนจัด เพราะจะทำให้เกิดอาการใบไหม้ได้ก้นถังที่มีตะกอนข้นมากก็ควรเททิ้งเพื่อป้องกันพิษของสารเคมีที่มีต่อพืช

5. โรคยอดและกิ่งแห้ง
เกิดจากเชื้อรา Choanephora cucurbitarum
ลักษณะอาการ ส่วนยอด เช่น ใบอ่อน ดอก และผลอ่อน จะเน่าเป็นสีน้ำตาลไหม้ ถ้าอากาศมี
ความชื้นสูงมากๆ จะเห็นเส้นใยราสีขาวหยาบๆ ขึ้นเป็นกระจุกบนเนื้อเยื่อสีน้ำตาล เส้นใยเหล่านี้เจริญตั้งตรงขึ้นมาจากใบ มีลักษณะเป็นเส้นสั้นๆที่ปลายเส้นใยโปร่งออกไปเป็นก้อนสีดำเล็กๆ สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าถ้าอากาศแห้งเส้นใยเหล่านี้จะแห้งและหลุดหายไป ยอดพริกจะแตกยอดไม่ได้
การป้องกันกำจัด ในระยะที่มีฝนตกชุก ควรพ่นสารเคมีป้องกันยอดอ่อนไว้ สารเคมีที่ใช้ เช่น บาวีซาน หรือ โคไซด์ โดยพ่นเป็นประจำทุก 5-7 วัน จะช่วยป้องกันกำจัดโรคนี้ได้

6. โรคกุ้งแห้ง หรือ แอนแทรคโนส (ANTHRACHOSE)
เกิดจากเชื้อรา Collectrichum gloeosporioides
ลักษณะอาการ ที่ผลพริกอาการจะเริ่มจากแผลหรือจุดช้ำเป็นแอ่งยุบลง ลักษณะอาจกลมหรือไม่แน่นอน ขนาดตั้งแต่จุดเล็กไปจนโตเต็มขนาดของพริก อาจมีเยงแผลเดียวหรือหลายแผลก็ได้ แผลเหล่านี้ต่อมาจะแห้งเป็นสีน้ำตาลหรือสีดำ พร้อมกับการสร้าง fruiting body ซึ่งเป็นที่เกิดของสปอร์ เป็นจุดสีเหลืองส้มหรือน้ำตาลดำเป็นวงๆ เรียงซ้อนกันอยู่ที่แผลดังกล่าว เชื้อจะเข้าทำลายผลพริกได้ทุกระยะ การเจริญเริ่มตั้งแต่เป็นเม็ดเล็กๆ จนโตเต็มที่และสุกแดง อย่างไรก็ดีหากเป็นระยะที่ยังอ่อน เซลล์บริเวณแผลที่ถูกทำลายจะหยุดการเจริญเติบโต ขณะเดียวกันส่วนรอบๆจะเจริญไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดอาการโค้ง งอ หรือบิดเบี้ยวขึ้น โดยมีแผลหรือเซลล์ที่ตายอยู่ด้านใน ลักษณะคล้ายกุ้งแห้ง ทำให้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โรคกุ้งแห้ง แต่ในกรณีที่โรคระบาดรุนแรง สิ่งแวดล้อมเหมาะสมอาจจะเกิดอาการแผลที่ต้น กิ่ง ใบ ได้เช่นเดียวกัน
การป้องกันกำจัด
1. งดปลูกพริกในพื้นที่ที่เคยมีโรคระบาดมาก่อน หรือปลูกพืชสลับกับพืชตระกูลอื่นไม่ต่ำกว่า 3 ปี
2. กำจัดพืชอาศัย หรือวัชพืช ที่อาจเป็นที่อาศัยของเชื้อให้หมดจากบริเวณแปลงปลูก
3. ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ปราศจากโรค
4. ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรค เช่น เทนเอ็ม บาวีซาน โคไซด์ เป็นต้น
5. ตัดแต่งทรงพุ่มกิ่งล่างให้โปร่ง และปลูกให้เป็นระเบียบ
7. โรคพริกที่เกิดจากเชื้อไวรัส
Potato Virus (PVY)
อาการหลังจากพริกได้รับเชื้อ PVY เริ่มต้นจากเส้นใบขยายบวมโต เด่นชัดขึ้น
(Vein clearing) ตามด้วยอาการด่าง หด ย่นขึ้นกับเนื้อใบ ต้นแคระแกร็น ออกผลหรือให้เม็ดน้อย ขนาดเล็กกว่าปกติ บิดเบี้ยว บางครั้งเมื่อเป็นมากใบจะหลุดร่วงหมด ทำให้ตายทั้งต้น PVY แพร่ระบาดได้ดีโดยเพลี้ยอ่อนบางชนิด
Chilli veinal mottle virus (CVMV)
เป็นไวรัสในกลุ่มเดียวกับ PVY ก่อให้เกิดอาการด่าง เขียว ซีด บริเวณเนื้อใบ แต่เนื้อเยื่อรอบๆ เส้นใบยังคงเขียวเป็นปกติ บริเวณปลายใบมีสีซีดกว่าโคนใบ ถ้าพืชเป็นโรครุนแรง ใบจะลีบมีลักษณะผิดปกติ ด่างชัดเจนและต้นหดสั้น พืชสามารถแตกกิ่งก่นต่อไปได้อีก แต่ส่วนยอดจะเจริญช้าและแคระแกร็นในที่สุดเชื้อ CVMV สามารถแพร่กระจายได้โดยเพลี้ยอ่อน

Cucumber mosaic virus (CMV)
เป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่พบในมะเขือเทศ ทำให้พืชแสดงอาการด่างหรือด่างเหลือง แต่ไม่ชัดเจนนัก บริเวณด่างเหลืองพบเป็นแต้มสีเหลืองจางกระจายบนใบ ถ้าพืชเป็นรุนแรงใบจะลดรูป ล้มเรียว เชื้อนี้สามารถแพร่กระจายได้โดยเพลี้ยอ่อน

Tobacco virus
ก่อให้เกิดอาการแผลลักษณะเป็นวงเรียงซ้อนกันบนใบและผลพริก โดยเนื้อเยื่อตรงส่วนที่เป็นวงจะแห้งตายเป็นสีเหลืองตัดกับส่วนในที่จะคงเขียวเป็นปกติ บนผลพริกหากเกิดอาการมากๆ จะบิดเบี้ยว ดินจะถูกทำลายเสียหายไปด้วยและกลายเป็นสีน้ำตาล เชื้อนี้สามารถแพร่ได้โดยอาศัยเพลี้ยอ่อน สำหรับการอยู่ข้ามฤดู ส่วนใหญ่อาศัยเกาะกินอยู่กับวัชพืชถาวรบางชนิดในบริเวณใกล้เคียง



Alfalfa mosaic Virus
อาการบนต้นพริกจากการทำลายของเชื้อตัวนี้มีหลายลักษณะ เช่น แผลสีเหลือง ใบด่างลาย เกิดเป็นแผลวงกลม ใบจุด ต้นแคระแกร็น ให้ดอก ติดผลน้อย ลดปริมาณผลผลิต การแพร่ระบาดโดยเพลี้ยอ่อนเช่นเดียวกัน

8. โรคหัวโกร๋นและใบม้วนหงิก
สาเหตุ ไรขาว (Polyphagotarsonemus latus)
เป็นสัตว์ปากดูดตัวเล็กๆ มีแปดขาเช่นเดียวกับแมงมุมหรือไรแดง พวกนี้จะเกาะดูดกินน้ำเลี้ยงบนใบอ่อนของพืชทันทีที่ออกจากตา โดยไรตัวผู้ที่เป็นตัวเต็มวัย ซึ่งเคลื่อนที่ได้จะนำเอาตัวอ่อนของตัวเมียเคลื่อนที่ไปยังใบอ่อน ตัวแก่ที่โตเต็มที่จะมีขนาดราว 1.5 มิลลิเมตร ไม่มีปี ปีนไม่ได้ ตัวเมียจะมีอายุประมาณ 10 วัน แต่ละวันจะวางไข่ได้ประมาณ 2-4 ฟอง ที่ด้านใต้ของใบพืช ไข่มีลักษณะกลมรี ขนาดยาว 0.7 มิลลิเมตร ที่เปลือกไข่จะมีปุ่มสีขาวเล็กๆเรียงกันอยู่ 5-6 แถว ไข่จะฟักออกเป็นตัวอ่อนภายใน 2-3 วัน จากนั้นจะกลายเป็นตัวแก่เต็มวัยในอีก 4-6 วันต่อมา ไรขาวจะแพร่ระบาดขยายพันธุ์ได้ดีในช่วงที่อากาศแห้งและเย็น

อาการ จะเกิดกับใบอ่อนที่ยอดหรือปลายกิ่ง ตั้งแต่ใบที่อยู่ปลายสุดลงมาถึงใบที่ 5-6 จะมีลักษณะเล็กหงิกงอ ขอบม้วนงอลงทั้งสองข้าง ใบที่อ่อนที่สุดจะมีลักษณะเล็กเรียวยาวมีสีเข้มปลายโค้งงอ ขอบม้วนลงเช่นกัน ใบพวกนี้มักจะหลุดร่วงออกทำให้เกิดอาการยอดกุดแห้งกลายเป็นหัวโกร๋นตามชื่อที่ใช้เรียกโรคนี้ ต้นพริกที่แสดงอาการของโรคจะชะงักการเจริญเติบโต ไม่ออกดอกออกผล เพราะส่วนปลายถูกทำลาย แม้ภายหลังบางทีสามารถแตกยอดออกมาได้ใหม่อีกแต่ก็ให้ผลผลิตไม่เต็มที่เหมือนต้นปกติ

การป้องกันกำจัด
เมื่อเกิดการระบาดหรือเมื่อสังเกตเห็นต้นพริกแสดงอาการให้ฉีดพ่นด้วยกำมะถันผงละลายน้ำ ฉีดพ่นให้ทั่วโดยเฉพาะด้านใต้ใบ ทำการฉีดพ่นทุก 2-3 วัน จนกว่าไรจะถูกทำลายหมดหรือหยุดการระบาด

10. โรคยอดไหม้และใบหงิกที่เกิดจากเพลี้ยไฟ
สาเหตุ เพลี้ยไฟ (Scortothrips dorsaliss)
เป็นแมลงจำพวกปากดูดที่ชอบดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อนของพืช ตัวแก่จะมีปีกสองคู่ บินได้ตัวสีน้ำตาลยาวประมาณ 1.5-20 มิลลิเมตร เมื่อแก่จะวางไข่ติดอยู่กับใบพืช และจะฟักเป็นตัวอ่อนภายใน 1 สัปดาห์ และจะพักตัวอยู่อี 4-5 วัน จึงกลายเป็นตัวเต็มวัย บินไปทำลายพืชต้นอื่นได้อีก
การทำลายของเพลี้ยก็เช่นเดียวกับไรขาว คือ จะเข้าเกาะกินใบอ่อนที่ส่วนปลายหรือส่วนยอดของต้น และกิ่งให้เกิดอาการในลักษณะที่คล้ายๆ กัน คือใบจะเรียวยาวมีขนาดเล็กลง โค้งหงิกงอ ขอบใบม้วนขึ้น หรือใบห่อ ผิวใบมีลักษณะไหม้เป็นจุดหรือแผลสีน้ำตาล เมื่อถูกเกาะกินนานๆ ใบจะเหลือง มีลักษณะแข้งกรอบ และหลุดร่วงออกได้โดยง่าย เมื่อมองไปที่ต้นพริกพวกนี้ จะเห็นยอดมีอาการรวมตัวกันเป็นกระจุกไม่คลี่ออกดังเช่นปกติ มีสีน้ำตาลไม่มีการให้ดอกออกผล ต้นและกิ่งหยุดการเจริญเติบโต

การป้องกันกำจัด
1. ใช้กาวดักแมลง
2. ใช้สารเคมี เช่น ชอสแมค อัตรา 30 ซีซี ผสมน้ำพ่นทุก 7 วัน จนกว่าจะหยุดการแพร่ระบาด

โรคที่เกิดจากการขาดธาตุอาหาร (MINERAL DEFICIENCY)
โรคผลพริกซีดขาวเนื่องจากขาดธาตุโปแตสเซียม (K)
ความผิดปกติจะเกิดขึ้นที่ผลหรือเมล็ดพริกที่แก่หรือสุก สีจะแดงไม่สม่ำเสมอ บางส่วนของผลจะซีดจางหรือเป็นสีขาว ผิวบางขาดความสวยงามเมล็ดภายในไม่สมบูรณ์ ไม่เหมาะที่จะใช้ทำพันธุ์ต่อไป สำหรับดินที่มักมีปัญหาการขาดธาตุโปแตสเซียม เช่น ดินปนทราย หรือดินที่เป็นทรายจัดตามชายทะเล ดินโคลนที่มีมูลสัตว์มากๆและดินในแหล่งที่มีถ่านหิน

การแก้การขาดธาตุโปแตสเซียม ทำได้โดยการเติมปุ๋ยสูตรผสมระหว่าง NPK ที่มีเลขตัวท้ายสูง เช่น 14-14-21 หรือ 12-12-20 ก็จะช่วยลดความเสียหายลงได้ นอกจากนี้การเติมปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยอินทรีย์ลงไปจะช่วยเพิ่มความเป็นกรดของดินให้สูงขึ้นก็เป็นการแก้ปัญหาการขาดโปแตสเซียมได้

โรคใบลายที่เกิดจากการขาดแมกนีเซียม (Mg)
หน้าที่ของแมกนีเซียมอย่างหนึ่งในพืช คือ เป็นองค์ประกอบของคลอโรฟิลล์ ทำให้พืชมีสีเขียวเป็นปกติ สำหรับใบพริกเมื่อขาดจะทำให้เนื้อใบระหว่างเส้นใย (vein) ด่างลายมีสีเหลืองสลับเขียว ทำให้ต้นขาดความสมบูรณ์ ปรุงอาหารได้ไม่เต็มที่ นอกจากนี้ยังทำให้เซลล์ผิวหรือผนังของลำต้นและใบบาง ทำให้ง่ายต่อการเข้าทำลายและการเกิดโรคบางชนิดขึ้นกว่าปกติ ใบที่แสดงอาการต่อมาจะเหลืองแล้วแห้งหลุดร่วงออกจากต้น โดยจะแสดงอาการที่ใบล่างก่อน

การแก้การขาดธาตุแมกนีเซียม ทำได้โดยการเติมสารประกอบแมกนีเซียม เช่นเกลือเอ็ปซั่ม (MgSo4. 7H2O) ผสมน้ำฉีดพ่นให้ต้นพริกโดยตรงหรือจะราดรดลงในดินแปลงก็ได้ นอกจากนี้ยังอาจใช้ปูนโดโลไมท์ เติมลงในดินประมาณ 1,000 กก. หรือ 1 ตันต่อไร่ แต่ควรใส่ก่อนการปลูกพืชไม่ต่ำกว่า 30 วัน แต่ปูนโดโลไมท์อาจทำให้ดินเป็นด่างจัดขึ้น ฉะนั้นก่อนปลูกพืชควรเติมปุ๋ยอินทรีย์ลงไปมากๆ จะทำให้ดินเหมาะต่อการเจริญเติบโตยิ่งขึ้น


โรคยอดเหลืองที่เกิดจากการขาดธาตุเหล็ก (Fe)
ธาตุเหล็กมีความสำคัญในการร่วมสร้างคลอโรฟิลล์ เป็นองค์ประกอบของเอ็นไซม์หลายชนิด ช่วยสังเคราะห์โปรตีนและยังช่วยดูดซึมธาตุอาหารอื่นๆสำหรับอาการของพริกเมื่อขาดธาตุเหล็กที่พบเห็นได้เสมอ คือ ยอดจะมีสีซีดจางเหลืองหรือขาว บริเวณยอดของต้นหรือปลายกิ่งจะมีขนาดเล็กลง ปล้องหรือข้อจะหดสั้นเป็นกระจุก ในกรณีที่ขาดมากยอดอาจแห้งตาย ไม่ออกดอกติดผล ถ้ามีผลเมื่อสุกแก่จะมีสีจาง

การแก้การขาดธาตุเหล็กทำได้โยการนำเอาสารประกอบธาตุเหล็ก เช่น เฟอรัสซัลเฟต หรือ เฟอริคซิเตรท มาละลายน้ำในอัตราส่วน 120-125 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ควรพ่นให้กับต้นพริกโดยตรง หรือราดลงบนแปลงปลูกรอบต้น อย่างไรก็ดีการฉีดพ่นให้พืชได้รับทางใบโดยตรงจะให้ผลิตเร็วกว่า และควรทำซ้ำ 3-4 ครั้ง

การขาดธาตุเหล็กจะพบในดินที่เป็นด่างจัดหรือมีปูนมากทั้งที่ในดินพวกนี้มีธาตุเหล็กอยู่มาก แต่ก็จะอยู่ในรูปที่ไม่ละลายน้ำพืชไม่สามารถดูดซึมไปใช้ได้ ในกรณีนี้การลดความเป็นด่างของดินโดยการเติมปุ๋ยอินทรีย์ลงไปมากๆ ก็จะเป็นการช่วยให้ธาตุเหล็กที่มีอยู่กลับเป็นประโยชน์ พืชสามารถนำไปใช้ในการเจริญเติบโตได้เป็นปกติ

เคล็ดลับการปลูก
1. ต้องเด็ดแขนงข้างล่างที่ต่ำกว่าง่ามออกให้หมด เพื่อให้พริกเจริญเติบโตดี
2. การให้น้ำไม่ควรให้แฉะเกินไป
3. ควรใช้เมล็ดพันธุ์ลูกผสม จะให้ผลผลิตคุณภาพสูง

ความคุ้มค่าของการลงทุน
ต้นทุนการผลิต/ไร่ = 20,000 บาท
ผลผลิต / ไร่ = 8-10 ตัน
ราคาผลผลิต/ก.ก. = 10 บาท
= 8,000 x 10 = 80,000 บาท
ผลกำไรที่ได้รับ = 80,000 – 20,000 = 60,000 บาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น