หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การปลูกแตงกวา แตงร้าน แตงท่อน

แตงกวา
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cucumis sativus
ชื่อสามัญไทย : แตงกวา, แตงร้าน, แตงท่อน
ชื่อสามัญอังกฤษ : Cucumber


ข้อมูลทั่วไป
แตงกวาเป็นพืชที่อยู่ในตระกูล (Family) Cucumber เป็นพืชเถาเลื้อยมีความยาวตั้งแต่ 1-5 ขึ้นอยู่กับพันธุ์ ปลูกได้ง่าย อายุนับจากวันปลูกถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 30-40 วัน ในประเทศไทยสามารถปลูกได้ตลอดปี ช่วงที่เหมาะสมที่สุดคือ ให้การเจริญเติบโตทางลำต้นอยู่ในช่วงปลายฤดูฝน และติดผลอยู่ในระยะเริ่มฤดูหนาวจะให้ผลผลิตดี การปลูกในฤดูร้อนอาจจะพบปัญหาการร่วงของดอก และผลผลิตลดลง ส่วนในฤดูหนาวถึงอุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส แตงกวาจะชะงักการเจริญเติบโต สำหรับแตงกวาในบ้านเราสามารถแบ่งตามขนาดของผล เพื่อการเรียกชื่อได้ เช่น แตงกวา, แตงท่อน, แตงร้าน, แตงกวาญี่ปุ่น เป็นต้น

ปลูกแตงกวา


วิธีการปลูก

การเตรียมดิน
ไถดินลึกประมาณ 20-25 เซนติเมตร ตากแดดทิ้งไว้ 7-10 วัน เก็บวัชพืชออกให้หมด ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ย
หมัก 1-2 ตัน/ไร่ เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินและปรับโครงสร้างดินให้เหมาะสม แล้วตามด้วยปุ๋ยตรากระต่ายสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัม/ไร่ แล้วใช้จอบไถกลบ ปรับหน้าดินให้สม่ำเสมอทั่วแปลง แนะนำให้ใช้ผ้าพลาสติกสีดำคลุมแปลงปลูกอบดินไว้ 7-14 วัน เพื่อให้แสงแดดฆ่าเชื้อโรคในดิน แล้วจึงเจาะรู
ปลูกพืช
การปลูก มี 2 วิธี
1. ปลูกแบบเลื้อยดิน นิยมใช้กับแตงกวาและแตงท่อน ขึ้นแปลงขนาดกว้าง 3-4 เมตร เว้นทางเดินหรือ
ร่องระบายน้ำระหว่างแปลงปลูก 50 เซนติเมตร ปลูกเป็นแถวคู่บนแปลงเลื้อยเข้าหากัน ระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ทำหลุมลึกประมาณ 3 เซนติเมตร หยอดเมล็ดหลุมละ 1-2 เมล็ด เมื่อเมล็ดงอกมีใบจริง 2-3 ใบ ตัดแยกเหลือไว้หลุมละ 1 ต้น แต่วิธีนี้ไม่แนะนำให้ปลูก เพราะให้ผลผลิตต่ำและคุณภาพไม่ดี
2. ปลูกแบบไม้ค้าง ทำแปลงกว้า 1 เมตร ร่องน้ำ 0.5 เมตร ปลูกแปลงละ 2 แถว โดยใช้ระยะห่าง
ระหว่างต้น 50 เซนติเมตร หยอดเมล็ดหลุมละ 1-2 เมล็ด เมื่อเมล็ดงอกมีใบจริง 2-3 ใบ ตัดแยกเหลือไว้หลุมละ 1 ต้น หรือในกรณีที่เพาะกล้า จะทำการย้ายกล้าเมื่อต้นกล้ามีใบจริง 1-2 ใบ หรืออายุประมาณ 10 วันหลังหยอดเมล็ด ซึ่งจะช่วยประหยัดเมล็ดพันธุ์และมีความสม่ำเสมอของต้นมากกว่า
การปลูกแตงกวาแบบใช้ค้างจะให้ผลผลิตที่สูงกว่าปลูกแบบเลื้อยดิน ความสูญเสียจากผลที่เน่าน้อยกว่าคุณภาพของผลผลิตดีกว่า ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรที่ปลูกแตงกวา แตงท่อน หันมานิยมใช้การปลูกแบบใช้ค้างมากขึ้น เพราะดูแลรักษาง่าย ประหยัดค่าแรงงาน ถึงแม้ต้องลงทุนค่าไม้ค้าง , ผ้าพลาสติกและระบบน้ำ แต่ระยะยาวก็คุ้มค่ากับการลงทุนมากกว่า
การให้น้ำ
ปัจจุบันการให้น้ำแตงกวามีหลายรูปแบบ เช่น การปล่อยน้ำตามร่อง, การให้น้ำแบบสปริงเกอร์, การให้
แบบน้ำหยด ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นระบบใด การให้น้ำที่พอเหมาะจะทำให้ผลผลิตสูง และผลของแตงกวามีคุณภาพ แตงกวาเป็นพืชที่ชอบน้ำมาก แต่ไม่ชอบน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะช่วงที่เริ่มให้ผลผลิต ไม่ควรให้แตงกวาขาดน้ำ ทั้งนี้ต้องพิจารณาจากความชื้นในดินสภาพอากาศภายนอกประกอบด้วย การให้น้ำแบบสปิรงเกอร์ควรจะให้ในช่วงเช้า ไม่ควรให้ในช่วงเย็นเพราะจะชักนำให้เกิดโรคทางใบได้ง่าย
การให้ปุ๋ย
ครั้งที่ 1 เมื่อแตงกวาอายุ 10-14 วัน หรือมีใบจริง 2-3 ใบ เพื่อเร่งการเจริญเติบโตทางลำต้น เช่น ปุ๋ยสูตร
21-0-0 , หรือ สูตร 46-0-0 ในอัตรา 25 kg./ไร่ โดยการละลายน้ำรดทีโคนต้น แล้วรดน้ำตามทันที ห้ามให้ปุ๋ยโดนใบจะทำให้ใบไหม้
นอกจากการให้ปุ๋ยทางรากแล้ว ควรให้ปุ๋ยทางใบช่วยเพื่อให้ใบและต้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยการใช้ปุ๋ยมา
มิโกรน้ำสูตร 12-9-6 , ออร์กามินและอโทนิค ฉีดพ่นทางใบควบคู่ไปกับสารเคมีทุกครั้งที่มีการพ่นสารเคมีพ่นจนถึงดอกเริ่มจะบาน จึงเปลี่ยนปุ๋ยทางใบสูตรใหม่โดยใส่ปุ๋ยมามิโกรชนิดผงสูตร 10-52-17 หรือ 6-32-35 เพื่อช่วยการออกดอกและให้ผลมีคุณภาพดี
ครั้งที่ 2 ใส่ปุ๋ยห่างจากครั้งแรก 3-4 วัน สูตรปุ๋ยและอัตราเหมือนครั้งที่ 1
ครั้งที่ 3 อายุประมาณ 25 วัน มีใบจริงประมาณ 6-8 ใบ ควรใส่ปุ๋ย 46-0-0 ผสม 15-15-15 โดยการเจาะ
หลุมใส่ระหว่างต้นหรือห่างจากหลุมปลูกประมาณ 20 เซนติเมตร แล้วให้น้ำตามโดยใส่ 1 กำมือต่อหลุม
ครั้งที่ 4 อายุประมาณ 30-35 วัน ช่วงนี้ รากแตงกวาจะแผ่ถึงบริเวณทางเดิน ดังนั้น เราควรใส่ปุ๋ย 13-
13-21 หรือ 15-15-15 อัตรา 25-50 กิโลกรัมต่อไร่ โดยใส่บริเวณทางเดินหรือหลังจากปล่อยน้ำเต็มร่องแล้วหว่านปุ๋ยตาม ช่วงนี้ควรใส่ปุ๋ยทางใบช่วย โดยใส่มามิโกรเกล็ด 10-52-17 หรือ 6-32-36 โดยการฉีดพ่นทางใบผสมไปกับสารเคมี
ครั้งที่ 5 ปฏิบัติเหมือนครั้งที่ 4 โดยการใส่ปุ๋ย 13-13-21 หลังจากเก็บผลได้ประมาณ 1 สัปดาห์ โดยดู
จากความสมบูรณ์ของต้น

การตัดแต่ง
การตัดแต่งแบบขึ้นค้าง แตงกวา แตงท่อน แตงกวาญี่ปุ่น ควรแต่งแขนงข้อที่ 1-5 ออก แตงร้านจะแต่งข้อที่ 1-7 ออกการตัดแต่งขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้นในกรณีไม่สมบูรณ์ อาจตัดแต่งให้ข้อสูงกว่านี้ก็ได้ หลังจากแต่งแขนงได้แล้วทำการปล่อยแขนงที่เหลือให้มีการเจริญเติบโต แล้วจึงทำการตัดยอดแขนง ถ้าเป็นแตงกวา แตงท่อน แตงกวาญี่ปุ่น จะไว้ 2 ผลต่อแขนง ตัดแต่งประมาณ 5 แขนง แล้วปล่อยตามธรรมชาติ แตงร้านจะตัดแต่งไว้ 1 ผลต่อแขนง ตัดแต่งแขนงจนถึงค้างบนแล้วปล่อยตามธรรมชาติ
การตัดแต่งแตงกวาเลื้อยดินทำง่ายๆโดยวิธีตัดแขนง 2-3แขนงออกแล้วปล่อยตามธรรมชาติ
การป้องกันกำจัดโรคและแมลง
การเก็บเกี่ยว
อายุการเก็บเกี่ยวแตงกวา ประมาณ 30-35 วัน ระยะหลังปลูกขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ และสภาพแวดล้อมด้วย ในช่วงหนาว อายุการเก็บเกี่ยวจะนานกว่าปกติ การเก็บผลควรเก็บทุกวัน หรือวันเว้นวัน ขึ้นอยู่กับแหล่งตลาดต้องการแตงขนาดใด เมื่อเก็บผลเสร็จแล้วให้รีบนำเข้าร่ม ไม่ควรล้างน้ำ จำทำให้แตงเหลืองเร็วกว่าปกติ
เคล็ดลับการปลูก
การปลูกแตงกวานอกจากขึ้นอยู่กับการปฏิบัติดูแลที่ดีแล้วควรคำนึงถึงสิ่งรอบตัวบ้าง โดยเฉพาะผึ้งที่ช่วยผสมเกสรทำให้ผลดก และมีคุณภาพดีขึ้น จึงไม่ควรทำลายผึ้งบริเวณรอบข้างแปลงปลูก หรือหลีกเลี่ยงการพ่นสารเคมีฆ่าแมลงขณะผึ้งผสมเกสร รวมทั้งการให้น้ำหลังจากมีการผสมเกสรในช่วงเช้าจะทำให้ไม่ติดผล
ความคุ้มค่าของการลงทุน
การปลูกแบบขึ้นค้างเกษตรกรส่วนใหญ่ หันมาปลูกกันมากในขณะนี้ เนื่องจากใช้พื้นที่น้อยปลูกได้มากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบการปลูกแบบเลื้อยดิน ปลูกขึ้นค้างใช้พื้นที่ 1 ไร่ปลูกเลื้อยดินจะให้ถึง 4 ไร่ และการปฏิบัติงานจะสะดวกกว่า การพ่นสารเคมีหรือใส่ปุ๋ยเคมีจะสูญเสียน้อยกว่าเลื้อยดิน ผลผลิตจะสูงกว่าปลูกเลื้อยดิน เพราะการเก็บเกี่ยวจะไปกระทบต่อยอดและแขนงหรือผลเล็กที่ใกล้เก็บเกี่ยว ทำให้สูญเสียน้อยกว่า
การลงทุนต่อไร่ต่อฤดู
- ค่าสปริงเกอร์, พลาสติกคลุมแปลง, ไม้ค้าง, เชือก 6,500 บาท
- ค่าเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยา 3,500 บาท
- ค่าแรงงาน (ค่าไถ, ค่าปลูก, ค่าเก็บเกี่ยวและอื่นๆ 10,000 บาท
รวม 20,000 บาท ต่อ ไร่
ผลผลิตเฉลี่ย แตงกวา 5,000 กิโลกรัมต่อไร่ ราคาเฉลี่ย 8 บาท รายได้ 40,000 บาท
แตงท่อน 7,000 กิโลกรัมต่อไร่ “ 6 บาท “ 42,000 บาท
แตงกวาญี่ปุ่น 4,000 กิโลกรัมต่อไร่ “ 10 บาท “ 40,000 บาท
แตงร้าน 8,000 กิโลกรัมต่อไร่ “ 5 บาท “ 40,000 บาท
เกษตรกรจะได้ผลตอบแทนประมาณ 20,000 บาทต่อไร่ ผลตอบจะได้สูงเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับการจ้างแรงงานและการปฏิบัติดูแลที่ดูกวิธีรวมถึงตลาดในแต่ละช่วงด้วย

ที่มา บริษัท เจียไต๋ จำกัด

-------------------------------------------------------------------------




















อ้างอิง

บริษัท เจียไต๋ จำกัด
วีดีโอจากยูทูป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น