หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การปลูกแตงโม การป้องกันกำจัดโรคและแมลง

ปลูกแตงโมการป้องกันกำจัดโรคและแมลง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Citrullus vulgaris
ชื่อสามัญ : แตงโม (Water melon)
ตระกูล : Cucurbitaceae

1. ข้อมูลทั่วไป

เป็นพืชจำพวกเถาเลื้อยมีมือเกาะ เป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่ใช้รับประทานเป็นผลสด ส่วนผลอ่อนนำมาประกอบอาหารได้ แตงโมสามารถปลูกได้ตลอดปี ฤดูที่เหมาะสมได้แก่ ช่วยปลายฝนแตงโมมีหลายสายพันธุ์ แตงโมยังมีแตงโมที่มีเมล็ด กับแตงโมไม่มีเมล็ด ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เราปรับปรุงมาได้

ปลูกแตงโม


ปลูกแตงโมจะให้ได้ผลผลิตสูง และทนทานต่อโรคแมลง แนะนำให้ใช้เมล็ดพันธุ์ลูกผสมจะให้ผลผลิตดีกว่า

2. วิธีการปลูก

2.1 การเตรียมแปลงปลูก
ไถเตรียมดินลึก 1-2 ฟุต ตากดินไว้ 7-10 วัน แล้วไถพรวนอีกครั้งหนึ่ง วัดขนาดแปลงกว้า 3.5-4 ยกร่องแปลงสูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร ขนาดแปลงกว้าง 80 เซนติเมตร ขุดหลุมปลูกลึก 20-30 เซนติเมตร ระยะระหว่างต้นห่างกัน 50-80 เซนติเมตร รองพื้นด้วยปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กก./ไร่ ปุ๋ยคอก 1,000 – 2,000 ก.ก./ไร่


การปลูกแตงโมสามารถทำได้ 2 วิธี

1. วิธีหยอดเมล็ด โดยหยอดเมล็ดลงหลุมปลูก หลุมละ 3-4 เมล็ด ลึก 2-3 ซม. กลบด้วยดินละเอียด รดน้ำให้ชุ่ม ใช้ฟางหรือหญ้าแห้งคลุมแปลงหนาพอสมควร เมื่อต้นกล้าแตกใบจริงได้ 2-3 ใบ หรือประมาณ 10-15 วัน จะทำการถอนแยกให้เหลือ 1-2 ต้นต่อหลุม
2. วิธีการเพาะกล้า โดยทำการเพาะเมล็ดในถ้วยหรือถุงเพาะกล้า วัสดุเพาะประกอบด้วย ดินร่วน 3 ส่วน ขี้เถ้าแกลบ 1 ส่วน ทราย 1 ส่วน และปุ๋ยคอก 1 ส่วน หรือใช้วัสดุเพาะสำเร็จรูป คือ พีทมอส ซึ่งสามารถอุ้มน้ำได้ดี มีธาตุอาหารครบ เมื่อต้นกล้ามีอายุ 10-15 วัน หรือมีใบจริง 2-3 ใบ ทำการย้ายลงแปลงปลูก การปลูกแตงโมลูกผสม แนะนำให้ใช้วิธีเพาะกล้า จะทำให้สะดวกในการดูแลรักษาต้นกล้า และประหยัดค่าเมล็ดพันธุ์ได้ ถ้าเป็นแตงโมชนิดไม่มีเมล็ด จะต้องมีการหนีบเมล็ดก่อน ถึงจะนำไปเพาะลงถ้วยเพาะกล้า

การให้ปุ๋ย

1. ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) อัตรา 1-2 ก.ก./ไร่ ใส่เมื่อแตงโมอายุ 25-30 วัน หลังจากปลูก
2. ปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 50-100 ก.ก./ไร่ ใช้เมื่อแตงโมอายุ 25-30 วันหลังปลูกโดยใส่ตามร่องน้ำแล้วให้น้ำตาม
3. ปุ๋ย 13-13-21 อัตรา 50-100 ก.ก./ไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกใส่ร่องเริ่มออกดอก คือ อายุประมาณ 35-40 วันหลังปลูก ครั้งที่สองใส่ช่วงติดผลอ่อน อายุประมาณ 60-65 วันหลังปลูก

การให้น้ำ

ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ อย่าให้แฉะเกินไป ช่วงที่ต้องการน้ำมาก คือ ช่วงออกดอกติดผล ส่วนช่วงเก็บเกี่ยวประมาณ 7-10 วัน ครั้งที่สองใส่ช่วงติดผลอ่อน อายุประมาณเก็บเกี่ยว 7-10 วัน ควรงดการให้น้ำลงเพื่อให้แตงโมมีความหวาน กรอบ รสชาติดี

การเด็ดยอด

การเด็ดยอดช่วยทำให้แตงโมออกดอกและแตกแขนงเร็ว ควรเด็ดยอดแตงโมหลังปลูกประมาณ 10-15 วัน หรือมีใบจริง 6-7 ใบ ถ้าเป็นแตงโมชนิดไม่มีเมล็ดจะเด็ดยอดช้ากว่าประมาณ 10 วันของแตงโมธรรมดา

การตัดแต่งเถาและไว้ผล

การปลูกแตงโมควรมีการจัดเถาให้ไปทิศทางเดียวกันให้เป็นระเบียบ เพื่อสะดวกในการดูแลรักษา เช่น การพ่นยา การไว้เถาจะไว้ 2-3 เถาต่อต้น การไว้ผลควรไว้ผลในตำแหน่งข้อที่ 10-12 ขึ้นไป

การต่อดอก

หลังจากย้ายกล้าประมาณ 25-30 วัน ดอกตัวเมียเริ่มบาน แล้วนำดอกตัวผู้มาแตะที่ยอดเกสรตัวเมียที่กำลังบาน หรือถ้าปลูกจำนวนมากจะใช้ผึ้งช่วยผสม

การป้องกันกำจัดโรคและแมลง

1. โรคราน้ำค้าง

อาการแรกๆ จะเห็นเป็นจุดเล็กๆ ก็เหลืองบนด้านบนใบ ด้านล่างก็ตรงกับแผลถ้าอากาศชื้น จะเห็นเส้นใยเป็นขุยขาวๆ ในตอนเช้าต่อมาใบแห้งเป็นสีน้ำตาล มักจะเป็นที่ใบแก่ที่โคนเถาก่อน สารเคมีที่ใช้ฉีดพ่น คือ เทนเอ็ม 45, โนมิลดิว

2. โรคเหี่ยว

อาการต้นจะเหี่ยวตายโดยไม่ปรากฏอาการ เช้าและเย็นจะมีอาการปกติ ตอนกลางวันจะเหี่ยวต่อมาละลาย
การป้องกันได้โดย ควรเลี่ยงการปลูกซ้ำที่ในแปลงที่เป็นมาก่อน หรือต้นที่เป็นให้เผาและทำลาย

3. โรคแอนแทรคโนส

อาการเริ่มแรกจะมีจุดฉ่ำน้ำทั่วใบ ต่อมาแผลจะแห้งเป็นสี้นำตาลหรือดำ และสังเกตเห็นเป็นวงซ้อนกัน ใบจะแห้งตายในภายหลัง ถ้าเป็นบนแผลแตง จะมีแผลสีดำ และยุบตัวเป็นแอ่ง เห็นชัดเจน
การป้องกันกำจัด
- ฉีดพ่นด้วย บาวีซาน เทนเอ็ม 45

4. แมลงเต่าแตง

ทำลายโดยกัดกินใบอ่อน พบมากในระยะกล้าช่วงแรกของการเจริญเติบโต
การป้องกันกำจัด
- พ่นยาฆ่าแมลง น็อกทริน, ไดทาฟอส

5. เพลี้ยไฟ 

เป็นแมลงประเภทปากดูด จะดูดกินน้ำเลี้ยงส่วนที่กำลังเจริญเติบโตทำให้ยอดอ่อนแคละแกรน ไม่เจริญเติบโต ยอดแตงโมตั้ง เรียกว่า “โรคไอ้โต้ง”
การป้องกันกำจัด
- ฉีดพ่นด้วย เบสโซฟอส, ชอสแมค, ไดเมทโซเอท

6. หนอนชอนใบ 


เป็นหนอนของแมลงวัน ตัวหนอนจะกัดกินผิวใบ ทำให้ใบเสียพื้นที่ปรุงอาหาร ใบขาดแหว่งเป็นรอย
การป้องกันกำจัด โดยฉีดพ่นด้วย ชอสแมค, ดีซีตรอน พลัส

ขั้นตอนการใช้สารเคมีที่ถูกต้อง ?

การเก็บเกี่ยวหลังปลูกแตงโม

อายุการเก็บเกี่ยวของแตงโมแต่ละพันธุ์ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ภูมิอากาศ และพันธุ์
การเก็บแตงโมมีหลักสังเกต ดังนี้
1.การนับอายุ ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและพันธุ์ เช่น ฤดูร้อนจะเก็บเกี่ยวได้เร็วกว่าฤดูอื่นๆ
2.การสังเกตมือเกาะ สังเกตมือเกาะที่ใกล้ขั้วมากที่สุด ถ้าแห้งหรือมีสีเหลืองจากปลายมาหาโคน แสดงว่าแตงโมแก่
3.การดีดที่ผล ผลอ่อนเสียงกังวาล ผลแก่เสียงดังกังวาลปนทึบ
4.ดูที่นวลของผล ผลแก่สีจะเริ่มจางลง
5.ทดลองผ่าดู
6.อายุการเก็บเกี่ยวของแตงโมไม่มีเมล็ดจะประมาณ 35-40 หลังดอกบาน
เคล็ดลับในการปลูก
- แนะนำให้ใช้ปุ๋ยสูตร 0-0-50 ใส่ในช่วงก่อนเก็บเกี่ยวจะทำให้เพิ่มความหวานได้
-เมื่อแตงโมติดผลแล้วไม่แนะนำให้เข้าไปแต่งแขนงจะทำให้ผลไม่โต
ความคุ้มค่าของการลงทุน
แตงโมธรรมดา ให้ผลผลิต 5,000 กิโลกรัม / ไร่ ลงทุน 15,200 บาท/ไร่
แตงโมไม่มีเมล็ด ให้ผลผลิต 6,000 กิโลกรัม / ไร่ ลงทุน 15,200 บาท/ไร่

ที่มา บริษัท เจียไต๋ จำกัด

--------------------------------------------------









----------------------------------------------------------------------


ปลูกแตงโมขายเมล็ดแห้ง


เงินลงทุน


ประมาณ  4,000 บาท/ไร่  (ไม่รวมค่าที่ดิน)
(ค่าเมล็ดพันธุ์ 90 บาท/1.5 กิโลกรัม/ไร่ ค่าไถพรวนดิน 200 บาท
ค่าปุ๋ย 250 บาท ค่าสารเคมี  100 บาท มอเตอร์สูบน้ำ 3,000 บาท)

รายได้


ประมาณ  2,000 - 3,000  บาท ขึ้นไป/100 - 150 กิโลกรัม/ไร่

วัสดุ/อุปกรณ์


เมล็ดพันธุ์  จอบ เสียม มีด กระสอบ ปุ๋ย สารเคมี มอเตอร์สูบน้ำ สายยาง
แหล่งจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์
ร้านจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์การเกษตรทั่วไป   สวนจตุจักร

วิธีดำเนินการ


1.     แตงโมปลูกได้ในดินแทบทุกชนิด  แต่ปลูกได้ดีที่สุดในดินร่วนปนทราย มีการระบาย น้ำดี

2.     ไถพรวนดิน 2 ครั้ง จากนั้นขุดหลุมปลูกกว้างยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ลึกประมาณ 15 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุม 1 เมตร ระหว่างแถว 1.5 เมตร

3.     หยอดเมล็ดพันธุ์หลุมละ 3-4 เมล็ด แล้วกลบดินทับรดน้ำให้ชุ่ม เมื่อต้นแตงโมขึ้นมามีใบจริง 2-3 ใบให้ถอนทิ้ง เหลือต้นที่แข็งแรงไว้หลุมละ 2-3 ต้น

การให้น้ำ ต้นแตงโมต้องการผิวดินชุ่มชื้น แต่ไม่ถึงกับแฉะ จึงควรดูแลให้ความชุ่มชื้นแก่ดินในแปลงเสมอ โดยเฉพาะช่วงที่ผลแตงโมกำลังเจริญเติบโต

การกำจัดวัชพืชและแมลง คอยดูแลไม่ให้มีหญ้าขึ้นปกคลุม และหากมีแมลงศัตรูพืชให้ใช้ยาฉีดพ่น

1.     หลังจากปลูกไปได้ประมาณ 20 วัน ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในอัตรา 15 กิโลกรัม/ไร่ โดยพรวนดินรอบโคนต้นห่างออกมาพอประมาณแล้วใส่ปุ๋ย         รดน้ำตาม

2.     เมื่อแตงโมอายุได้ประมาณ 60 วัน ให้ใส่ปุ๋ยรอบที่ 2 ในอัตราเท่าเดิม

3.     เมื่อแตงโมอายุได้ 75-80 วัน ผลแตงจะแก่ได้ที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ โดยสังเกตจาก “มือ”  ของแตงจะมีสีน้ำตาล ให้เก็บผลมากองรวมกันไว้ จากนั้นผ่าซีกควักเอาเนื้อแตงออกมาใส่ถังแล้วร่อนเอาแต่เมล็ดนำมาล้างน้ำให้สะอาด

4.     จากนั้นนำเมล็ดแตงไปตากแดดจัด ๆ ประมาณ 4 ชั่วโมงบนลานปูนหรือเสื่อ หากแดดไม่จัดอาจต้องตากนาน 2-3 วัน และต้องหมั่นกลับด้านมิฉะนั้นเมล็ดจะบิดงอเมล็ดแตงที่ตากได้ที่แล้วทดสอบได้โดยเอามือกำเมล็ดดู หากเมล็ดติดมือแสดงว่ายังใช้ไม่ได้ต้องตากแดดต่อแต่หากไม่ติดมือแสดงว่าใช้ได้แล้ว นำไปบรรจุใส่กระสอบเพื่อจำหน่ายต่อไป

5.     หากต้องการเก็บเป็นเมล็ดพันธุ์ ให้นำเมล็ดที่ตากแดดแห้งแล้วมาเก็บไว้ในที่ร่ม ซึ่งอากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อรักษาเปอร์เซ็นต์การงอกของเมล็ด

ตลาด/แหล่งจำหน่าย


ตลาดใหญ่ทั่วไป  โรงงานแปรรูป  ตัวเมืองจังหวัดลพบุรี

สถานที่ให้คำปรึกษา


1.     กรมส่งเสริมการเกษตร
2.     สำนักงานเกษตรอำเภอ,จังหวัด

ข้อแนะนำ


1.     พันธุ์แตงโมที่ปลูกเพื่อขายเมล็ดแห้งมีหลายพันธุ์ แต่ที่ตลาดต้องการมากคือ    “พันธุ์ไต้หวัน”  เพราะมีเมล็ดค่อนข้างใหญ่
2.     การนำเมล็ดแตงตากแดด  ควรระวังอย่าให้นานเกินไป  มิฉะนั้นเมล็ดจะบิดงอ

ที่มา : กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน

--------------------------------------------------------------------


เกษตรนราธิวาส...แนะวิธีการป้องกันรักษาโรคแตงโมเถาเหี่ยว

ปัญหาหนึ่งที่เกษตรกรมักพบในการปลูกแตงโมและสร้างความหนักใจให้กับเกษตรกร
มากที่สุด  คือ  การประสบปัญหาโรคศัตรูพืชทำลายแตงโม  โรคเถาเหี่ยวก็เป็นอีกโรคหนึ่งที่สร้างปัญหาให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกแตงโม  ซึ่งทำให้ผลผลิตที่ได้ลดลงและเพิ่มต้นทุนในการผลิต  เสียทั้งทุนและเวลา

นายชอบ   สุวรรณศรี  นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร 7ว  กล่าวว่า  โรคเถาเหี่ยว  เกิดจากเชื้อ  2  ชนิด  คือ  เชื้อรา  และเชื้อแบคทีเรีย   ซึ่งมีอาการแตกต่างกันดังนี้

โรคเถาเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อราฟิวซาเรียม  แตงโมจะมีอาการสีใบจะซีด  ใบและเถาจะเหี่ยวบริเวณโคนเถาที่ใกล้กับผิวดินจะแตกตามยาวและมีน้ำเมือกซึมออกมา  เมื่อผ่าไส้กลางเถาดูจะเห็นภายใน เป็นสีน้ำตาล  โรคนี้จะระบาดมากในช่วงแตงโมออกดอก  ในพื้นที่ที่มีการปลูกซ้ำ  ในช่วงที่แตงโมกำลังเจริญเติบโตมีฝนตกติดต่อกันยาวนาน   พื้นที่ที่ดินเป็นกรดจัด  ดินที่มีไนโตรเจนสูงแต่ธาตุฟอสฟอรัสและโปแตสเซียมต่ำ  ป้องกันและกำจัดได้โดย  ไม่ปลูกแตงโมซ้ำที่เดิม  คลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารเคมีไดเทนเอ็ม  45   อัตรา  15  กรัมต่อเมล็ดพันธุ์  1  กก.  ก่อนนำไปปลูกใส่ปูนขาวในดินแก้ความเป็นกรด  ไร่  500  กก.  เมื่อมีการระบาดใช้สารเคมี เทอราคลอร์  อัตรา  60  ซีซี ผสมน้ำ  20  ลิตร  ราดลงในหลุมแตงโมทุก  7  วัน

โรคเถาเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย  อาการใบในเถาจะเหี่ยวทีละใบ  เหี่ยวจากปลายเถามาหาโคนเถาในเถาใดเถาหนึ่ง  เมื่อเหี่ยวมาถึงโคนเถาก็จะเหี่ยวพร้อมกันหมดทั้งต้น  แต่ใบยังเขียวอยู่  และจะตายเมื่อเหี่ยวหมดทั้งต้น เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียเข้าไปอุดท่อส่งน้ำเลี้ยงในต้นแตงโม เมื่อเอามีดผ่าตามยาวเถา จะเห็นภายในเถาฉ่ำน้ำกว่าปกติ สาเหตุเกิดจากแมลงเต่าแตงที่มีเชื้อแบคทีเรียอยู่ในตัวกัดกินใบแตงโม เป็นแผล  เมื่อแตงโมได้รับเชื้อจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นอย่างรวดเร็วแล้วกระจายเข้าสู่ท่อน้ำท่ออาหาร

ป้องกันและรักษา.....

ป้องกันและรักษาได้โดย  ใช้สารเคมีเซพวิน  85  ฉีดป้องกันแมลงเต่าแตงซึ่งเป็นแมลงพาหะและใช้ยาปฏิชีวนะสเตรปโตมัยซิน  เช่น  อะกริมัยซิน  ฉีดพ่นทุกสัปดาห์  อัตราตามฉลากข้างภาชนะที่บรรจุ  หากพี่น้องเกษตรกรสนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน  และสำนักงานเกษตรจังหวัดนราธิวาส  073-532218 , 073-532219

ศูนย์บริการข้อมูลและสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัดนราธิวาส
ชอบ  สุวรรณศรี / ข้อมูล
รัตนา  ถิระโชติ  ข่าว
กุมภาพันธ์  2551

------------------------------------------------------------------------------------------




เกษตรนราธิวาส...แนะการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟทำลายแตงโม

แมลงนับว่าเป็นศัตรูที่สำคัญชนิดหนึ่งที่ทำความเสียหายให้กับผลผลิตแตงโม ซึ่งมีมากหลายชนิด
แต่ที่ทำความเสียหายให้กับแตงโมถึงระดับเศรษฐกิจชนิดหนึ่งก็คือ  เพลี้ยไฟ

เพลี้ยไฟ  เป็นแมลงชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็กมาก  ตัวอ่อนจะมีสีแสด  ตัวแก่จะเป็นสีดำ
มีขนาดเท่าปลายเข็ม จะดูดน้ำเลี้ยงที่ยอดอ่อนของแตงโม  และใต้ใบอ่อนของแตงโมมีผลทำให้ใบแตงโม ไม่ขยายตัว ยอดหดสั้นลง ปล้องถี่ ยอดชูตั้งขึ้น ชาวบ้านเรียกโรคนี้ว่า โรคยอดตั้ง บางแห่งเรียกว่า โรคไอ้โต้ง  เพลี้ยไฟจะบินไปเป็นฝูง  มีลักษณะเล็กละเอียดคล้ายฝุ่น ในช่วงฤดูแล้งความชื้นในอากาศต่ำ  ลมจะช่วยพัดพา เพลี้ยไฟให้เคลื่อนที่เข้าทำลายพืชผลในไร่ได้รวดเร็วขึ้น  เพลี้ยไฟยังทำลายพวกพืชผัก  เช่น  ฟักทอง  แฟง  ฟัก  เมื่อเกษตรกรสวนไหนฉีดพ่นยา  เพลี้ยไฟจะหนีเข้าไปอาศัยสวนข้างเคียงที่ไม่ฉีดพ่นสารเคมี ฉะนั้น  เกษตรกรในแปลงข้างเคียงควรที่จะร่วมมือกันในการฉีดพ่นยาทำลายเพลี้ยไฟ

การป้องกันกำจัด  ใช้สารเคมีหลายชนิด  เช่น  แลนเนท  ไรเนต  เมซูโรล  ฉีดพ่นตามอัตรา
ในฉลาก  หรือใช้น้ำหมักชีวภาพฉีดพ่นไล่แมลงทุก  3-5  วัน  หรือปลูกพืชเป็นกันชน  เช่น  มะระจีน (สามารถต้านทานเพลี้ยไฟได้)  ล้อมไว้สัก  2  ชั้น  แล้วภายในแปลงปลูกแตงโม เมื่อมะระขึ้นค้างจะช่วยปะทะการแพร่ระบาดของเพลี้ยไฟให้ลดลงได้ สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สอบถามได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน และสำนักงานเกษตรจังหวัดนราธิวาส  โทร. 073-532218 , 073-532219

ศูนย์บริการข้อมูลและสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัดนราธิวาส
รัตนา  ถิระโชติ  /ข้อมูล/ข่าว
กุมภาพันธ์  2551

--------------------------------------------------------------------

ปลูกแตงโม ให้ดูดิน ดินชุดสันป่าตอง


ลักษณะโดยทั่วไป : เนื้อดินเป็นพวกดินร่วนปนทราย ดินสีน้ำตาลอ่อน สีเหลืองหรือแดง บางแห่งอาจพบจุดประสีในดินชั้นล่าง เกิดจากวัตถุต้นกำเนิดพวกตะกอนลำน้ำหรือจากการสลายตัวผุพังของหินเนื้อหยาบ พบบริเวณพื้นที่ค่อนข้างราบเรียบ จนถึงพื้นที่ลาดเชิงเขา ส่วนใหญ่มีความลาดชันประมาณ 2 - 20 % และบางส่วนมีความลาดชันประมาณ 20 - 35 % เป็นดินลึก มีการระบายน้ำดี ระดับน้ำใต้ดินอยู่ลึกกว่า 1 เมตรตลอดปี มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำ pH 4.5 - 5.5  ได้แก่ชุดดินสันป่าตอง เขาพลอง ชุดดินหุบกระพง และชุดดินยางตลาด ชุมพาง ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวใช้ปลูกพืชไร่ต่าง ๆ เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ปอ ข้าวโพด และถั่ว บางแห่งมีสภาพเป็นป่าละเมาะ หรือทุ่งหญ้าธรรมชาติ

ปัญหาในการใช้ประโยชน์ที่ดิน :  เนื้อดินเป็นทรายจัด น้ำซึมผ่านชั้นดินได้เร็วมาก ดินอุ้มน้ำต่ำ ระดับน้ำใต้ดินต่ำมาก  ดินมีการกัดกร่อนในบริเวณที่มีความลาดชันสูง ความอุดมสมบูรณ์ ของดินต่ำ

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช : กลุ่มชุดดินที่ 40 มีความเหมาะสมในการปลูกพืชไร่ และไม้ผล ค่อนข้างไม่เหมาะสมที่จะนำมาปลูกพืชผัก และไม่เหมาะสมที่จะใช้ในการทำนา เนื่องจากเนื้อดินค่อนข้างเป็นทรายและสภาพพื้นที่ไม่อำนวย แต่สามารถใช้ประโยชน์ในการปลูกไม้โตเร็วและปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ได้ดี

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 40 

ปลูกพืชไร่ ปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน -ใช้วัสดุคลุมดิน เช่น ฟางข้าว หรือ เศษพืชต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เม็ดฝนที่ตกลงมากระทบผิวดิน โดยตรง -ไถพรวนดินและปลูกพืชไร่ขวางความลาดเทของพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณที่มีความลาดเทเกิน 5 % -สร้างสิ่งกีดขวางทิศทางการไหลของน้ำผิวดิน เมื่อฝนตกหนัก เช่น คันดิน ร่องระบายน้ำ คันเบนน้ำ บ่อดักตะกอน หรือบ่อน้ำประจำไร่นา -ปลูกแถบหญ้า เช่น หญ้าแฝกสลับกับพืชที่ปลูกเป็นแถวขวางความลาดเทของพื้นที่

ปลูกแตงโม ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 50-100 กก./ไร่ ใส่รองก้นหลุมและใส่ปุ๋ยสูตร 10-10-20 หรือ 13-13-21 อัตรา 50-100 กก./ไร่ ใส่ปุ๋ยเป็นจุดรอบโคนต้น ห่างจากโคนต้น 30 ซม. เมื่อแตงโมอายุ 30 วัน

ที่มา กลุ่มชุดดินที่ 40

----------------------------------------------------------

ลักษณะโดยทั่วไป :  เนื้อดินบนเป็นดินทรายปนดินร่วน ส่วนดินในระดับความลึก 50-100 ซม. เป็นดินเหนียว ดินเหนียวปนเศษหิน หรือเป็นชั้นหินผุ สีดินบนเป็นสีน้ำตาลดินล่างเป็นสีน้ำตาลปนเทา บางแห่งมีจุดประสีแดงและมีศิลาแลงอ่อนปะปนอยู่จำนวนมาก พบบริเวณพื้นที่เป็นลูกคลื่นลอนลาดเล็กน้อย เป็นดินลึก มีการระบายน้ำดีปานกลาง มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำ ปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัดถึงกรดแก่ มีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง ประมาณ 4.5-5.5 ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรัง ป่าละเมาะและไม้พุ่ม พืชไร่ที่ปลูกได้แก่ ปอ ข้าวโพด ถั่วเขียวและแตงโม แต่มักให้ผลผลิตต่ำ ตัวอย่างชุดดินที่อยู่ในกลุ่มนี้ได้แก่ ชุดดินนาคู ชุดดินบ่อไทย ชุดดินทับเสลา

ที่มา กลุ่มชุดดินที่ 37

----------------------------------------------------------

Ai 2

ที่มา เทคนิคการปลูกแตงโม


Ai 3

ที่มา การปลูกแตงโม


Ai 4



อ้างอิง
บริษัท เจียไต๋ จำกัด
21 12 53 เกษตรกรหันมาปลูกแตงโมใช้น้ำน้อย
การปลูกแตงโมไร้สารพิษ 1_2
การปลูกแตงโมไร้สารพิษ 2_2
แตงโมออกลูกแล้วต้นก็ยังไม่โทรม
เรียนรู้ ไปคู่ กับปลูก แตงโม ครั้งแรก
กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน
ศูนย์บริการข้อมูลและสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัดนราธิวาส
ศูนย์บริการข้อมูลและสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัดนราธิวาส
กลุ่มชุดดินที่ 40
กลุ่มชุดดินที่ 37
เทคนิคการปลูกแตงโม สภาพอากาศ
การปลูกแตงโม
การศึกษาวิธีการปลูกแตงโม

1 ความคิดเห็น: